www.OnToTour.com ขอแนะนำเว็บที่เกี่ยวข้องกับ ภูหลวง
© bloggang.com blog ที่มีภาพกล้วยไม้จากภูหลวง สวยหรือมั๊ย .. เข้าไปชมกันนะครับ
© bloggang.com ของพี่เสือจุ่น เซียนดูนกมือดี ที่มี blog บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกล้วยไม้ได้ดีไม่แพ้กัน
© pantip.com กระทู้เรื่องเล่า ประกอบภาพ ของ K. ใบไผ่_npc เล่าได้สนุกครับ
ภาพโดย : da da www.bloggang.com
ลักษณะเด่นที่น่าสนใจ
1. อุณหภูมิของอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูหนาวอุณหภูมิจะลดลงใกล้ถึงจุดเยือกแข็งหรือต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเกือบทุกปี
2. เป็นแหล่งที่มีพืชพรรณไม้ในที่สูงที่อุดมสมบูรณ์มาก มีกล้วยไม้ป่ามากกว่า 160 ชนิด มีพืชพรรณไม้ที่หายากหรือมีที่ ภูหลวง เพียงแห่งเดียวหรือพืชพรรณไม้ที่ไม่ค่อยจะพบเห็น
3. สวนหินธรรมชาติที่ประกอบด้วยพืชพรรณไม้ดอกกล้วยไม้และพืชชั้นต่ำ เช่น ลานสุริยัน และป่าหินภูเขา
4. หน้าผาที่สูงชันและทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น ผาสมเด็จ ผาเยือง และผาโหล่นแต้
5. ทุ่งดอกไม้ป่าที่สมบูรณ์และสวยงาม เช่น ทุ่งกุหลาบแดง ทุ่งกุหลาบขาว
6. รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่มีอายุประมาณ 120 ล้านปี
7. น้ำตกที่ตกจากหน้าผาที่สูงประมาณ 60 เมตร เช่น น้ำตกตาดเลย
ภูหลวง มีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลกและดินส่วนที่อ่อนพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ ภูหลวง ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2517 มีพื้นที่ประมาณ 560,593 ไร่
สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูง อากาศเย็นตลอดปี ตั้งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอ ภูหลวง
ฤดูกาลบน ภูหลวง มี 3 ฤดูเหมือนพื้นราบแต่ระดับอุณหภูมิต่างกัน ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20-24 องศาเซลเซียสจะมีดอกไม้ที่มีสีสันเจิดจ้าสวยงาม เช่น เอื้องตาเหิน กล้วยไม้ป่าดอกขาว กุหลาบขาวและกุหลาบแดง ฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อุณหภูมิใกล้เคียงหรือสูงกว่าหน้าร้อนเล็กน้อยจะมีดอกไม้ป่าดอกเล็กๆ สีชมพูอมม่วงขึ้นแซมตามทุ่งหญ้าและเทียนน้อย ฤดูหนาวอุณหภูมิลดลงมาก เฉลี่ย 0-16 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม บางวันอุณหภูมิลดลงถึง –4 องศาเซลเซียสจะมีก่วมแดงหรือที่รู้จักกันว่าเมเปิ้ล จะเปลี่ยนสีแดง แล้วผลัดใบ ตามพื้นดินจะเห็นต้นกระดุมเงินและรองเท้านารีปีกแมลงปอขึ้นอยู่บนก้อนหินและตามพื้นป่าดิบเขา ด้านตะวันออกของเทือกภูหลวงมีการค้นพบซากหินรอยเท้าไดโนเสาร์อายุกว่า 120 ล้านปี นอกจากนี้ยังมีป่าหลากชนิด เช่น ป่าผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา แต่ป่าที่โดดเด่นที่สุดบนภูหลวง คือป่าสนสองใบ สนสามใบ และทุ่งหญ้าตามพื้นที่ราบ เนินเขาและลานหิน
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ภูหลวง เป็นเส้นทางเดินต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากโหล่นมน ซึ่งเป็นบริเวณที่พักนักท่องเที่ยวผ่านป่าดงดิบ ลำห้วยป่าสนสามใบ และดอกไม้สลับทุ่งหญ้าระยะทางประมาณ 2.3 กิโลเมตร ถึงโหล่นสาวแยงคิง จากนั้นไปเป็นเส้นทางเดินไปยังโหล่นหินแอ่วขัน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ผ่านดงดอกไม้หลายชนิด ต่อไปเป็นทางเดินสู่ลานหินโหล่นแต้ ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบกุหลาบขาวและกล้วยไม้ป่าต่าง ๆ บริเวณผาโหล่นแต้ สามารถชมวิวทิวทัศน์ของภูหอ ภูกระดึง ภูยองภู และภูขวาง นอกจากนี้ ยังมีจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผากบ ผาชมวิว โหล่นช้างผึ้ง ซุ้มงูเห่า และน้ำตกสายทอง
การเดินทางขึ้น ภูหลวง จากจังหวัดเลยไปยังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จากจังหวัดเลยไปตามเส้นทางสายเลย-ภูเรือ ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร ถึงบ้านสามตม แล้วแยกซ้ายที่บ้านสามตมไปอีก 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง สำหรับผู้ที่เดินทางโดยไม่เข้าตัวจังหวัดเลย เมื่อผ่านอำเภอภูเรือไปตามเส้นทางเข้าจังหวัดเลย ระยะทางประมาร 14 กิโลเมตร จะถึงบ้านสามตม แล้วแยกขวาที่บ้านสามตมไปเป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย โทร. 0 1221 0547 หรือติดต่อกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0 2562 0760
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่า ภูหลวง และป่าภูหอ ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปื่อย ป่าภูขี้เถ้าและป่าภูเรือ ที่มีอาณาเขตครอบคลุมอำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้ายและอำเภอ ภูหลวง จังหวัดเลย ได้รับการจักตั้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๑ ตอนที่ ๒๑๖ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ มีเนื้อที่ประมาณ ๘๔๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๓๐,๐๐๐ ไร่ และเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๔ ได้มีการผนวกพื้นที่เพิ่มเติม และเพิกถอนพื้นที่บางส่วน ทำให้มีพื้นที่โดยรวมประมาณ ๘๙๗ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๖๐,๕๙๓ ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ : ป่า ภูหลวง มีสภาพเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่แนวเขตเริ่มจากระดับความสูง ๔๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาที่สูงที่สุดคือยอดภูขวางสูง ๑,๕๗๑ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาทางด้านซีกตะวันออกมีลักษณะเป็นเขาลูกใหญ่ มีที่ราบบนหลังเขาเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ตารางกิโลเมตร ระดับความสูงประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาทางด้านตะวันตกเป็นภูเขาเล็กๆตั้งสลับซับซ้อนเป็นลูกคลื่นที่ระดับความสูง ๖๐๐ - ๘๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเลย
ลักษณะทางธรณี : มีโครงสร้างของหินอัคนีและหินตะกอนของหินชุดโคราชและหินชุดราชบุรี
ลักษณะพืชพรรณ : พืชพรรณแตกต่างกันไปตามระดับความสูง อันประกอบด้วยป่าชนิดต่างๆ คือ ป่าดิบเขา ป่าไม้พุ่ม ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าไผ่และทุ่งหญ้า
พันธุ์สัตว์ป่า : สัตว์ป่ามีอยู่หลายชนิด เช่น ช้าง เลียงผา หมาไน เก้ง กวาง หมีควาย ชะนีมือขาว ไก่ฟ้าหลังขาว นกมุ่นรกคอแดง นกปากแก้วหางสั้น นกแอ่นมาตินพันธุ์เนปาล เต่าปูลู ปาดตะปุ่ม ปูเจ้าพ่อหลวงหรือปูหินและปลาอีก ๑๐ ชนิด
ภูหลวง เป็นอีกภูหนึ่งที่ผมตั้งใจว่าต้องมาให้ได้ เนื่องจากชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืชโดยเฉพาะไม้ดอก และกล้วยไม้มีมากกว่าที่ใดๆ แต่ด้วยเหตุที่สถานที่แห่งนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้วยแล้วทำให้การที่จะมาเยือนนั้นต้องได้รับอนุญาติจากกรมป่าไม้เสียก่อน ทำให้ผมต้องอดใจรอคอยเป็นเวลาถึง ๒ ปี ผมมา ภูหลวง โดยมาทางด้านจังหวัดเลย เส้นทางคดเคี้ยวทอดผ่านหมู่บ้านต่างๆ เราสามารถเห็นเทือกเขาที่ประกอบกันเป็น ภูหลวง ได้แต่ไกล สภาพภูเขาส่วนใหญ่ถูกบุกรุก เพื่อทำการเกษตรกรรม และแล้วเราก็ถึงทางแยกขึ้นภูที่บ้านสานตม ทางเริ่มลำบากมากขึ้นเมื่อผ่านด่านเข้ามา ทางส่วนใหญ่เป็นทางลูกรัง บางช่วงที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง ก็ได้มีการปรับปรุงให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และอีกไม่นานเมื่อเส้นทางนี้แล้วเสร็จการเดินทางก็จะสะดวกและปลอดภัยขึ้น แต่นั้นก็ต้องแลกกับความเสื่อมโทรมที่จะเกิดขึ้น สำหรับสภาพป่าข้างทางขึ้นภูนั้น เป็นป่าดงดิบที่มีต้นไม้ขึ้นกันอย่างหนาแน่น ฝูงลิงกระโดดหนีแตกกระเจิงอยู่บนกิ่งไม้ พวกเขาคงตกใจที่ได้ยินเสียงคำรามจากรถของเรา ที่ต้องเอาชนะกับความสูงชันและหล่มโคลน กว่าจะถึงที่ทำการโคกนกกระบาได้ก็แทบแย่ แต่พอรถจอดผมเหลือบไปเห็นต้นกุหลาบแดงออกดอกสะพรั่ง ความเหน็ดเหนื่อยก็หายเป็นปลิดทิ้ง ยิ่งมองลอดเข้าไปในพุ่มไม้ก็ยิ่งต้องตื่นตาตื่นใจกับกล้วยไม้ป่านานาชนิด ช่างสมกับที่ได้ชื่อว่ามรกตแห่งอีสานเสียจริง ยิ่งในช่วงฤดูแล้งที่พรรณไม้ต่างๆแข่งกันออกดอก ด้วยแล้วคงจะอลังการมากทีเดียว
ในบริเวณที่ทำการโคกนกกระบานั้น จะมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ให้ท่านได้สามารถเดินป่าศึกษาพรรณไม้ต่างๆได้อย่างจุใจ เนื่องจากมีพรรณไม้อยู่หลากหลายชนิด เส้นทางนี้มีความยาวประมาณ ๑,๘๗๐ เมตร เป็นเส้นทางเดินตามพื้นราบบนยอดเขาที่มีความสูงเฉลี่ย ๑,๔๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บางส่วนก็จะมีแนวหินรูปร่างต่างๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ลักษณะดินเป็นดินทรายที่มีหน้าดินตื้น สภาพป่าเป็นป่าดิบเขา ที่มีต้นแคระแกรนตามกิ่งก้านและลำต้นของต้นไม้จะมีพืชอิงอาศัยเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น มอส เฟิร์น ไลเคน กล้วยไม้ พันธุ์ไม้ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพวกก่อดำ สนสามใบ กุหลาบขาว กุหลาบแดง เมเปิล ตามพื้นดินจะเป็นพวก หญ้า เฟิร์น กล้วยไม้ดิน ฯลฯ
สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติอีกเส้นหนึ่งนั้น จะเดินไปทางด้านสถานีทวนสัญญาณช่อง ๗ ตามทางเดินเท้ามีทากบ้างพอสมควร มีทั้งชนิดที่อยู่ตามพื้นดินและอีกพวกหนึ่งเกาะตามต้นไม้ เส้นทางนี้จะไปสู่จุดชมวิวผาสมเด็จ เป็นที่สามารถเห็นแนวหน้าผาของผาเตลิ่นได้สวยงามจับใจจริง จากผาสมเด็จเราจะเดินผ่านป่าดิบเขาสลับกับทุ่งหญ้าเพื่อมุ่งหน้าไปสู่รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่ประทับลงบนหินทราย จากจุดนี้เราต้องเดินย้อนขึ้นมาไม่ไกลนักก็จะพบทางแยกเพื่อไปสู่ผาเตลิ่น หน้าผาที่เป็นแนวรับลมที่มาจากทางด้านทิศตะวันออก ครั้งนี้เราโชคดีที่มาในยามที่ ลมได้พัดพาเอากลุ่มเมฆปลิวมาปะทะกับหน้าผาแล้วม้วนตัวขึ้นมาปะทะกับตัวเราช่างสดชื่นเย็นสบายเสียจริง เราได้ตักตวงความสุขจนบ่ายคล้อย เจ้าหน้าที่นำทางจึงมาบอกให้เดินทางกลับได้แล้ว หากชักช้าเส้นทางที่เราจะเดินกลับนั้น เป็นทางเดินของช้างป่า หากได้เจอกันเข้าอาจเป็นอันตรายได้ เทคนิคอย่างหนึ่งของการเดินเส้นทางนี้ไม่ให้เหนื่อยและไม่ติดหล่มโคลนก็คือ ให้เดินไปบนรอยเท้าช้าง เรียกว่างานนี้ต้องเดินวัดรอยเท้าช้างกันละ ใครที่ก้าวยาวๆไม่ได้ก็เห็นทีจะเหนื่อยหน่อย เนื่องจากเท้าของท่านอาจติดหล่ม แต่ถ้ามาในช่วงที่ดินแห้งแล้วก็คงไม่มีปัญหาใดๆ
จากการที่ผมได้มีโอกาสสนทนากับเจ้าหน้าที่ที่นี่ จึงได้ทราบข้อมูลที่น่าคิดอยู่หลายเรื่อง อาทิเช่น ปัญหายุงที่กำลังเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆทั้งที่แต่ก่อนนั้นที่นี่ไม่มียุงเลย แต่จากการที่จุดท่องเที่ยวทางด้านอำเภอวังสะพุงได้ถูกปิดลงเมื่อประมาณปี ๒๕๔๒ ทำให้นักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนจุดขึ้นภูมาเป็นด้านโคกนกกระบา อีกทั้งจุดนี้ยังสามารถนำรถยนต์ขึ้นถึงยอดภู คาดว่าบรรดายุงที่ระบาดอยู่ในขณะนี้เป็นยุงที่ติดมากับรถยนต์ สำหรับปัญหาการลักลอบเก็บกล้วยไม้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง หากท่านได้เดินชมกล้วยไม้บริเวณที่ทำการโคกนกกระบา จะเห็นว่ามีมากมายหลายชนิด จริงๆ แล้วไม่มากมายอย่างที่เห็นหรอก ที่มีมากก็เพราะว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้ไปกวาดจับพวกพ่อค้าที่รับซื้อกล้วยไม้จากชาวบ้านที่แอบขึ้นภูไปเก็บมา ก็ได้มาหลายคันรถ ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ไหนเลยเอามาปลูกที่นี่ ก็เลยกลายเป็นแหล่งรวมพันธุ์กล้วยไม้ไป สาเหตุของการลักลอบเก็บไปขายก็เนื่องจากว่าพันธุ์กล้วยไม้ หลายชนิดของที่นี่มีราคาแพงมาก (โดยเฉพาะกล้วยไม้รองเท้านารีปีกแมลงปอที่มีที่นี่แห่งเดียวในโลก) หากเก็บได้สัก ๑ คันรถปิคอัพจะขายได้หลายแสนบาท แต่หากถูกเจ้าหน้าที่จับกุมต้องเสียค่าปรับไม่กี่พันบาท ทางพ่อค้าก็ถือว่าคุ้มก็เลยลักลอบเก็บกล้วยไม้กันจนแทบไม่มีเหลือ อีกปัญหาหนึ่งก็คือการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อทำไร่ขิงของชาวเขาเผ่าม้งบางกลุ่ม เพราะเป็นพืชที่ทำรายได้อย่างงาม ในพื้นที่ ๑ ไร่ สามารถทำกำไรได้ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท การลงทุนก็เพียงแค่ออกแรงถางป่า เดิมทีชาวเขาเผ่าม้งพวกนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำการแผ้วถางป่าบริเวณบ้านน้ำก้อและใกล้เคียงเพื่อทำไร่ขิง จนเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ขึ้น ในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถปลูกขิงได้อีกต่อไป เนื่องจากการทำไร่ขิงนั้น ต้องทำในพื้นที่ที่แผ้วถางใหม่ อีกทั้งสามารถทำได้ครั้งเดียวเท่านั้น ต้องถางป่าต่อไปเรื่อยๆ อีกไม่นานหมู่บ้านรอบๆเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูหลวง อาจเกิดโศกนาฏกรรมเหมือนบ้านน้ำก้อก็ได้
การเดินทาง
โดยรถโดยสารประจำทาง : มี ๒ ทางให้เลือกคือ จากสถานีขนส่งหมอชิตใหม่นั่งรถสายกรุงเทพฯ-เมืองเลย จากนั้นต่อรถสายเมืองเลย-หล่มสัก ลงรถที่บ้านสานตม แล้วเหมารถให้ไปส่งที่ยอดภู หรืออีกทางหนึ่งคือจากสถานีขนส่งหมอชิตใหม่นั่งรถสายกรุงเทพฯ-หล่มสัก จากนั้นต่อรถสายหล่มสัก-เมืองเลย ลงรถที่บ้านสานตม แล้วเหมารถให้ไปส่งที่ยอดภู
โดยรถยนต์ส่วนตัว : จากกรุงเทพฯใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ ผ่านตัวเมืองสระบุรีให้ตรงไปเข้าเส้นทางหลวง หมายเลข ๒๑ ผ่านเขตจังหวัดลพบุรี เพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๐๓ ผ่านอำเภอหล่มเก่า อำเภอ ภูเรือ เมื่อถึงบ้านสานตมจะมีทางแยกทางด้านขวามีป้ายบอกเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูหลวง อีก ๓ กิโลเมตรต่อมาจะพบทางแยกมีป้ายบอกที่ทำการเขตฯอีกครั้ง ให้เลี้ยวซ้ายขับ ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงด่านตรวจ รถยนต์สามารถขึ้นถึงยอดภู รวมระยะทาง ๑๘ กิโลเมตร
หรืออีกเส้นทางหนึ่งคือ จากกรุงเทพ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑ จนถึงจังหวัดสระบุรี ให้เลี้ยวขวาไปทางอำเภอ ปากช่อง เมื่อผ่านเขื่อนลำตะคองจะพบทางสามแยกให้เลี้ยวซ้าย เข้าเส้นทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ ขับรถไปจนกว่าจะถึงจังหวัดเลย จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๒๐๓ จนกว่าจะถึงบ้านสานตมจะมีทางแยกทางด้านขวา มีป้ายบอกเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูหลวง ระยะทาง ๑๘ กิโลเมตร อีก ๓ กิโลเมตรต่อมาจะพบทางแยกมีป้ายบอกที่ทำการเขตฯอีกครั้ง ให้เลี้ยวซ้ายขับ ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงด่านตรวจ รถยนต์สามารถขึ้นถึงยอดภู
อาหารและที่พัก
ร้านอาหาร : ไม่มีบริการ แต่สามารถสั่งให้ทางเจ้าหน้าที่จัดหาให้ได้ในอัตรา ๒๔๐ บาท / วัน / ท่าน ผมคิดว่าราคาถ้าเห็นตัวเลขก็ต้องบอกว่าแพงมาก แต่ผมได้รับประทานดูแล้ว ผลคือไม่แพงครับ มื้อเช้าเป็นข้าวต้มพร้อมกาแฟไข่ลวกเติมได้จนกว่าจะอิ่ม มื้อกลางวันเป็นอาหารห่อ ส่วนมื้อเย็นจะเป็นอาหารชุดใหญ่ พร้อมผลไม้เติมได้จนกว่าจะอิ่ม แต่หากจะทำอาหารเองก็ได้แต่ต้องทำในบริเวณที่กำหนดเท่านั้น ในฤดูแล้งควรเตรียมน้ำดื่มไปด้วยให้เพียงพอ
ที่พัก : ทางเขตฯมีบ้านพักอยู่หลายหลัง สามารถรองรับนักศึกษาธรรมชาติได้ประมาณ ๑๐๐ คน ทางเขตฯไม่อนุญาติให้กางเต็นท์
การติดต่อ : นักศึกษาธรรมชาติที่ต้องการเข้าชมต้องติดต่อ ฝ่ายจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ กรมป่าไม้ เขต จตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์ ๐๒-๕๖๑๔๒๙๒-๓ หรือ ๐๒-๕๗๙๔๘๔๗
ขอขอบคุณที่มา :
© ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 5
© ข้อมูลพื้นฐานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูหลวง ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ สถานีวิจัยสัตว์ป่า ภูหลวง
© วิรัช ทิพเกษร จาก thailandgeographic