www.OnToTour.CoM ขอแนะนำเว็บเกี่ยวกับ ภูกระดึง
© phukradung.com เว็บบันทึกเรื่องราวของ ภูกระดึง โดยตรง ต้องอ่านครับ ...
© bloggang.com Blog ของคนที่เคยไป ภูกระดึง นำเสนอภาพประกอบคำบรรยายได้น่าสนใจ
ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 30 กันยายน ของทุกปี
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 พฤษภาคม ของทุกปี
ทำไมต้องขึ้นเดือนตุลาคม
1. ผู้พิชิตคนแรก: วันที่ 1 ตุลาคมเป็นวันแรกของการเปิดฤดูท่องเที่ยว ภูกระดึง ของทุกปี ใครอยากจะเป็นคนแรกที่ขึ้นถึงยอดภู หรือเป็นผู้พิชิต ภูกระดึง กลุ่มแรกของปี ก็ต้องมาวันนี้กันครับ
2. สดใหม่ไร้มลทิน: ป่าทั้งป่า ต้นไม้ใบหญ้าทุกกอทุกใบ สดใสงดงามไม่มีมลทินจากน้ำมือมนุษย์มาตลอด 4 เดือนเต็ม ( รวมทั้งพวกไม้ดอกยังไม่มีพวกนักท่องเที่ยวมักง่าย เหยียบย่ำทำร้าย หรือเด็ดเล่น จะพบเห็นได้ข้างทางทั่วไปครับ )
3. เขียวขจี- พวกไม้บางชนิด พวกที่ต้องอาศัยสภาพฉ่ำน้ำจะยังขึ้นอยู่ทั่วไปครับ พวกมอสจะไม่แค่คลุมหินอย่างเดียว ยังขึ้นคลุมดินจนเหมือนเป็นพรมผืนใหญ่ในบางจุดด้วย ความจริงแหล่งชมพืชพรรณพวกนี้ที่น่าสนใจคือ “ลานพระแก้ว” ที่อยู่ใกล้ ๆ กับผานกแอ่น แต่ช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ บริเวณนี้จัดเป็นพื้นที่อันตรายเพราะเป็นเขตช้างป่า เวลาจะไปชมต้องสอบถามเจ้าหน้าที่ หรือมีเจ้าหน้าที่พาไปจะดีที่สุดครับ
4. สวรรค์มาโคร- ใครที่เล่นกล้องไม่ควรพลาด ยิ่งชอบถ่ายภาพระยะใกล้ หรือมาโครนั้น ช่วงนี้มีดอกไม้ที่ยังไม่บอบช้ำ พืชพรรณ เห็ดแปลก ๆ ฯลฯ ลองเอากล้องมาส่องเก็บภาพงาม ๆ เก็บไปบ้างสิครับ
5. ปลายฝนต้นหนาว- อากาศช่วงเดือนตุลาคม ถือว่าเป็นปลายฝนต้นหนาว คือ ฝนเริ่มหมดแล้ว แต่ยังมีตกบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็ยังไม่หนาวลมเหมือนหน้าหนาวที่จะเริ่มเข้าตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป
6. ปลีกวิเวก- ใครที่ไม่ชอบนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ๆ เหมือนหน้าเทศกาล ก็ไม่ควรพลาด ภูกระดึง ในเดือนตุลาครับ เพราะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมากันพอสมควร พอที่จะไม่เหงา แต่ไม่มากจนมีปัญหาเรื่องความจอแจเหมือนช่วงเดือนธันวาคม
7. แต่ละเดือนไม่เหมือนกัน- เสน่ห์อีกด้านของ ภูกระดึง คือ แต่ละเดือนไม่เหมือนกันครับ มีสภาพอากาศ และพืชพรรณที่ต่างกันออกไป ช่วงที่ยังมีฝนโปรยฟ้าอยู่นี่ จะมีพวกหมอกให้ชม ไม่แน่ถ้าโอกาสเหมาะ ๆ อาจเจอเดินขึ้นตรงซำกกโดนแล้วมีหมอกคลุมจนมองไม่เห็นทางเลยก็มี
8. ชมน้ำตก- สมัยนี้เมืองไทยหน้าแล้งเยอะ ทำให้น้ำตกบนภูแล้งน้ำเร็วกว่าปกติ ดังนั้นเดือนตุลาคม จึงเป็นอีกเดือนที่พอจะอุ่นใจได้ว่ายังเห็นภาพน้ำตกงาม ๆ สวย ๆ บนยอดภูได้อยู่
ภาพโดย : www.phukradung.com
สิ่งที่ต้องเตรียม
© ภูกระดึง ในวันฟ้าฉ่ำฝน ช่วงสองอาทิตย์แรกของเดือนตุลา อาจจะยังมีฝนอยู่ โดยเฉพาะสัปดาห์แรกทางเดินจะแฉะมาก ดังนั้นต้องเตรียมตัวพวกอุปกรณ์กันฝนทั้งหลายเช่น เสื้อกันฝน ร่มเล็ก ๆ กระเป๋ากันน้ำ ถุงขยะสีดำไว้แพ็คของ รวมทั้งพวกอุปกรณ์กันทาก เช่น ถุงกันทาก ( บนภูมีขาย หรือซื้อของ Zebra ตามร้านแคมปิ้งก็ได้ )
© ถ้ามีสตางค์ ช่วงนี้นอนบ้านอาจสะดวกกว่านอนเต้นท์เพราะมีฝนตกเป็นระยะ ส่วนเรื่องเต้นท์ และผ้าใบ ติดต่อเช่าจากแม่ค้าบนภูได้ครับ
© อุปกรณ์กล้องต้องเตรียมตัวให้ดีครับ เผื่อไว้ว่าฝนอาจจะตกได้ทุกเมื่อ กล้องและเลนส์แต่ละตัวก็หลายราคาอยู่ต้องถนอมกันหน่อยนะ
© ถุงเท้าต้องเอาไปเผื่อครับ เพราะทางบางช่วงจะแฉะ รองเท้าและถุงเท้าจะเปียก ถ้าเตรียมไว้ไม่พอจะเจอปัญหาไม่มีถุงเท้าแห้ง ๆ ใส่นอนตอนกลางคืน
© อย่ากลัวฝนครับ ใต้ฟ้าจะกลัวฝนไปทำไม เผลอ ๆ เจอแล้งก็ได้เพราะป่าเมืองไทยสมัยนี้แล้งเร็วเหลือเกิน เห็นมีคนบอกว่า เมื่อตุลาปีกลายก็แทนที่จะแฉะกลับแล้งอย่าไม่น่าเชื่อ
ขั้นตอนก่อนตะกายภู
โดย ลุงจิ๊บ
ปกติแล้วนักขึ้น ภูกระดึง ส่วนใหญ่จะมาถึงด้วยรถทัวร์ และรถยนต์ ถ้าเป็นแบบแรก รถทัวร์จากกรุงเทพฯ จะจอดที่ผานกเค้า จะที่ร้าน “เจ๊กิม” หรือ “เลิศลักษณ์” ก็แล้วแต่บริษัททัวร์ที่นั่งมา เวลาที่เดินทางมาถึงก็มักจะเป็นตีห้าชนิดใกล้สว่างเต็มที มืดๆ ง่วง ๆ งัวเงียขึ้นมาโซเซเดินลงจากรถ พอหาที่นั่งได้ก็ต้องนั่งคิดกันต่อว่าจะไปไหนดี ยิ่ง “มือใหม่” หัดตะกายภูเป็นหนแรกแล้วยิ่งงงใหญ่ว่า “เอ๊ะ...ต่อไปจะทำไงดี” ใครเก๋าแล้วก็คงไม่ต้องอ่านต่อไปจากบรรทัดนี้หรอกครับ เพราะคงผ่านประสบการณ์กันมาช่ำชอง เขียนตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้มือใหม่จากทั่วสารทิศโดยเฉพาะ
1== ถามไถ่ ขั้นแรก ดูว่าหน้าเทศกาลหรือเปล่า? ถามแม่ค้าที่ผานกเค้าดูว่าคนมากันเยอะมั้ย ถ้าเยอะ และเป็นหน้าเทศกาลที่อยู่ในหน้าหนาวอย่าง เช่น 5-10 ธันวาคม หรือ ปีใหม่ หรือเสาร์อาทิตย์ ให้ประเมินไว้เลยว่าคนจะเยอะกันแน่ เป็นแบบนี้จังหวะการเดินทางของคุณจะเร่งร้อนยิ่งขึ้นกว่าปกติเป็นหลายเท่า
2== สดชื่นไว้ก่อน ล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น บอกร่างกายว่าต้องตื่นแล้วล่ะ อย่าลืมเข้าห้องน้ำทำธุระหนักให้เรียบร้อย สำหรับใครที่ติดนิสัยนี้อยู่แล้วคงจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าไม่ชิน ก็ขอให้พยายามหน่อยนะ
3== กองทัพเดินด้วยท้องครับ หาอะไรทานซะ ถึงแม้ปกติจะไม่เคยทานข้าวเช้าเลยก็ตาม นี่ยิ่งผมบอกให้กินข้าวตั้งแต่หกโมงเช้าคงบอกว่าไม่ไหว.. แต่เดี๋ยวก่อน...ฉุกคิดนิดนึงว่า อีกไม่ช้าไม่นานประมาณ 7-8 โมงเช้า คุณเองจะเริ่มใช้พลังงานมหาศาลในการลากสังขารอันอวบอ้วนของคุณเองขึ้นภู ซึ่งใช้พลังงานไม่ใช่เล่นเลย จะรอไปหม่ำตีนภูแล้วขึ้นเลย จะจุกเอา ( อย่างน้อยกินข้าวก่อนขึ้นภูซัก 45 นาทีนะครับ ถ้าน้อยกว่านั้น ร่างกายจะแย่เอา )
4== ขึ้นสองแถว พร้อมหน้าพร้อมตาและแต่งสวยกันแล้ว ก็ตรงไปที่คิวรถสองแถวกันเลย จะอยู่ตรงข้ามฝั่งถนนกับร้านเจ๊กิม ถ้ากลุ่มใหญ่พอก็เหมาสองแถวไปเลย แต่ถ้ามีไม่กี่คนก็เล็ง ๆ ว่ามีคนไปนั่งรออยู่แล้วจะได้สมทบกันครบคันจะได้ไปเร็ว ๆ ถ้าคนไม่ครบคัน ทางคิวรถมักจะยื่นข้อเสนอว่า จะจ่ายเพิ่มอีกคนละนิดหน่อยหรือเปล่า อันนี้ก็แล้วแต่ใจของคุณเองและเพื่อนร่วมรถแล้วล่ะครับว่าจะสนแบบไหน
5== แบ่งทีมและแบ่งงาน อย่างแรกหาคนในทีมที่บึกบึนซักหน่อยแบกกระเป๋าไปจ้างบริการลูกหาบ (ส่วนใหญ่จะเป็น พ่อหาบ กับ แม่หาบ มากกว่าลูก เหอ เหอ ) ตรงนี้จะมีสองขั้นตอนก็คือ ซื้อบัตรติดสัมภาระ ใบละ 2 บาท จะเป็นบัตรกระดาษมีรอยปรุสามตอน มีเจาะรูแล้วมียางรัดของผูกไว้ ที่ต้องทำก็คือ เขียนชื่อของใครซักคนในกลุ่มของคุณนั่นล่ะ (เลือกมาซักคนนึงไม่ต้องเขียนชื่อครบทุกคน) ลงในกระดาษทั้งสามตอน แล้วนำไปติดที่เป้แต่ละใบ การติดก็มีเทคนิคนิดนึง มองหาที่เกี่ยวแล้วง้างยางรัดของที่บัตร แล้วเอาบัตรที่เขียนชื่อครบทั้งสามท่อนมาลอดผ่านยางเส้น ก็เกี่ยวติดครับ ( ฟังแล้วไม่เข้าใจ หรือ ทำไม่เป็นก็ให้ถามเจ้าหน้าที่ได้ครับ ) ส่วนเป้สัมภาระที่จะจ้างหาบ ก็ให้แยกเป็นชิ้น แล้วติดบัตรตามชิ้น อย่าไปเสียดายค่าบัตร 2 บาทครับ เพราะถ้าคุณรวมเอาเป้สองใบมัดเข้าด้วยกัน ติดบัตรแค่ใบเดียว เกิดไปหล่นกลางทาง จะงงกันว่ากระเป๋าใบนั้นเป็นของใคร
จากนั้น พอติดบัตรเสร็จก็แบกไปที่ชั่งน้ำหนักกระเป๋า แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าคณะของคุณมีกระเป๋าทั้งหมดกี่ใบ และใบไหนถึงใบไหนบ้าง จะได้ไม่สับสน จัดการให้เจ้าหน้าที่ชั่งให้เสร็จสรรพ อย่าลืมปิดรูดซิบให้เรียบร้อยกันของหล่นกลางทาง ทางที่ดีกระเป๋าควรจะกันน้ำได้ด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเขียนน้ำหนักลงบนบัตรทั้งสามท่อน และฉีกหางบัตรมาหนึ่งท่อนส่งคืนมาให้คุณ สำหรับ ค่าลูกหาบ กิโลกรัมละ10 บาทครับยังไม่ต้องจ่ายตรงนี้ เอาไว้ไปจ่ายตอนรับของบนภูโน่น
ขอแนะว่า ชื่อของตัวแทนกลุ่มคุณ และคนที่เก็บหางบัตรติดตัว ควรจะเป็นคนที่คิดว่า มีฝีเท้าดีที่สุด และน่าจะขึ้นภูจนถึงที่พักได้เร็วที่สุด เพราะไปถึงก่อนจะได้ไปรับของได้ก่อน จะได้เอาไปกางเต้นท์ หรือที่บ้านพักได้เลย ไม่ใช่ขึ้นไปแล้ว หางบัตรยังอยู่ที่ซำตรงไหนซักแห่ง จะเสียเวลาทั้งของคุณเองและลูกหาบ
6== ค่าธรรมเนียมและที่พัก ในขณะเดียวกันที่ทีมจ้างลูกหาบกำลังทำงาน หาอีกคนไปเสียค่าธรรมเนียมพักแรมทันที ค่ากางเต้นท์ต่อคน/คืน ละ 30 บาท รายละเอียดถามเจ้าหน้าที่ได้ แต่ใครที่จองบ้านจากกรมป่าไม้ที่ส่วนกลางมา อย่านิ่งนอนใจให้คอนเฟิร์มการจองกับทางเจ้าหน้าที่ก่อนขึ้นภูกระดึงอีกครั้ง เพื่อป้องกันการผิดพลาด ( ทำเหมือนจองตั๋วเครื่องบินเลยนะเนี่ย ) อย่าพยายามลักไก่นะครับ เพราะบางทีเจ้าหน้าที่ข้างบนเขาจะมีการสุ่มตรวจ
7== จัดการธุระส่วนตัวเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย สาว ๆ ทั้งหลาย ถ้าไม่อยากแวะเข้าป่ากลางทาง ให้แวะก่อนเดินขึ้น เพราะห้องน้ำถัดไปอยู่ที่ซำกกโดน ( ประมาณเกือบ 4 กิโลภูเขา ) นะครับ พกน้ำติดตัวไปคนละขวด หรือแวะซื้อกลางทางก็ได้
8== ถอดเสื้อหนาว พวกเสื้อหนาวถอดเก็บให้หมดครับ แพ็คใส่เป้สัมภาระติดตัว หรือติดไปกับกระเป๋าที่จ้างลูกหาบก็ได้ เพราะพอเริ่มเดินคุณจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนเสื้อหนาวไม่จำเป็น เกะกะเปล่า ๆ เชื่อผมเถอะ
9 == เดินขึ้น แวะซื้อตั๋วค่าธรรมเนียมขึ้น ภูกระดึง ผู้ใหญ่ 20 เด็ก 10 บาท นักศึกษานักเรียน 10 บาท ( อันนี้ต้องมีบัตรมายืนยัน ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบมา ) ถ้าฝรั่งเจอ 200 บาทครับ ผมว่าแพงไปหน่อยนะแต่ทำไงได้ล่ะ ระเบียบเป็นแบบนี้นี่นาตรงซุ้มทางขึ้นจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตั๋ว และตรงนั้นจะมีสมุดให้เซ็นเข้า ไม่จำเป็นต้องเซ็นทุกคน หาตัวแทนมาเซ็น จะระบุว่าขึ้นกี่คนมีผู้ชายกี่คน หญิงกี่คน
10== เช็คเวลา เช้าสุดที่เปิดให้ขึ้นคือ 7 โมง เย็นสุดคือบ่าย 2 โมง เหตุเพราะ เกินบ่ายสองโมงเป็นต้นไป เจ้าหน้าที่เขาจะไม่ให้ขึ้นภู ถ้าขึ้นจะไปค่ำกลางทาง พอถึงช่วง ซำแคร่ ต้องปีนหินเยอะหน่อยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ใจผมอยากให้ขึ้นเช้า ไม่เกินแปดโมง หรือขึ้นราว ๆ เจ็ดโมงได้ยิ่งดี เพราะช่วงแรกภูเขายังไม่สูง อากาศจะร้อน เจอแดดเข้าจะเผาแรงเผาเครื่องเราเกินไป ขึ้นหลังเที่ยงไปยิ่งไม่แนะนำ ยิ่งหน้าร้อนจะเหนื่อยมาก ขอบอก ใครไม่ฟิตยิ่งต้องขึ้นแต่เช้าครับ
11== บริการสังคม ภูกระดึง ต้องการอาสาสมัครเก็บขยะบนยอดภู (เอาลงมาข้างล่าง) ลงชื่อไว้ก่อนได้ที่ซุ้มหลังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ถ้าขนขยะลงมาได้ตามที่กำหนดจะมีประกาศนียบัตรยกย่องให้ด้วยครับ ช่วย ๆ กันหน่อยให้ ภูกระดึงสะอาดและน่าอยู่
สุดท้ายแล้ว ทุกคนจะเสมอภาคกันหมด ตรงที่ต้องเดินสองเท้าก้าวขึ้นภูเหมือนกัน สองเท้าก้าวเดินไปบนเส้นทางสายเหยียดยาวผ่านซุ้มประตูไป อนาคตอยู่ที่ตัวคุณกำหนดเอง...โชคดีเป็นของทุกท่านครับ
ขอขอบคุณที่มา : http://www.phukradung.com/content/index01.php