บทความนี้บันทึกไว้เมื่อ วันที่ 21 มกราคม 2553 เวลา 16.20 น. อากาศยามเย็นกำลังดี อารมณ์กำลังได้
บทความนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าเขียนเพื่อใคร รู้เพียงว่าอยากเขียน อยากแสดงความรู้สึก แชร์ประสบการณ์ที่ได้รับ ในรอบ 4 ปีกว่าๆ ของการทำทัวร์ บางเรื่องหลายท่านอาจเคยได้รับมาบ้างแล้ว บางท่านยังมือใหม่หัดเที่ยว ... ก็ให้อ่านด้วยอารมณ์ขำ ขำ นะครับ ( ผมก็ไม่ใช่มือเก๋าแต่อย่างใด บอกเล่าได้เพียงสิ่งที่ได้สัมผัสมาบ้างเท่านั้นเอง )
แรกเริ่มเดิมทีผมไม่ได้เรียนทางด้านการท่องเที่ยว เพื่อมาทำทัวร์เป็นอาชีพ ... ผมทำทัวร์ด้วยความรู้สึก รู้สึกสนุกอยากทำ หรือรู้สึกอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ทำมาได้ร่วม 4 ปีแล้ว ... โดยจุดเริ่มต้นมาจากการร่วมทริปหารเฉลี่ยกับเพื่อนๆ หน้าใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และปัจจุบันก็ไม่ได้ร่วมกันทำทัวร์แต่อย่างใด ... แล้วจะเล่าทำไมเนี๊ยะ ??
เกริ่นมาพอสมควรล่ะ เดี๋ยวเพื่อนๆ จะเบื่อกันซะก่อน แชร์ประสบการณ์เรื่องการทำทัวร์เลยดีกว่านะครับ อาจเป็นประสบการณ์แบบเด็กๆ เพราะเคยจัดทัวร์แค่ 300 ครั้งเท่านั้น ยังน้อยนิดเมื่อเทียบกับทัวร์ใหญ่ๆ ที่เปิดมาหลายสิบปี ... การจัดทัวร์ครั้งหนึ่ง ต้องประกอบขึ้นด้วยหลายๆ ฝ่าย ... บริษัทนำเที่ยว ไกด์นำเที่ยว พาหนะสำหรับการเดินทางตลอดทริป ไกด์ปลายทาง ทัวร์ท้องถิ่น บริษัทประกันชีวิต ร้านอาหาร ที่พัก ลูกค้า และองค์ประกอบสำคัญที่สุด คือ ธรรมชาติที่สวยงาม ที่รอให้เราไปสัมผัสกัน นั่นเอง
การจัดทัวร์ครั้งหนึ่งใช่ว่าจะจบลงด้วยความประทับใจเสมอไป การที่ทริปนั้นจะจบลงด้วยดีมีความสุขกันถ้วนหน้า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน แต่คนเราร้อยพ่อพันแม่ มีความรู้สึกนึกคิดที่ต่างกัน ต้องมาร่วมเที่ยวด้วยกัน บางครั้งก็มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นบ้าง ... เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แล้วแต่เราจะมองว่ามันใหญ่ หรือเล็ก ... ปัญหาใหญ่สำหรับบางคน อาจยิ่งใหญ่กว่านั้นสำหรับบางคนก็เป็นได้ ... แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ให้คิดซะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้รับมาระหว่างการเดินทางครั้งนั้น คือ " ประสบการณ์ " ซึ่งกันและกัน ... แต่ละคนกำลังให้ประสบการณ์กับอีกหลายๆ คนโดยที่เขาอาจไม่รู้ตัว
ผมเหมือนเขียนหาประเด็นไม่เจอ ขอแยกเป็นข้อๆ ดีกว่านะครับ
1. สังคมควรตระหนักในเรื่อง " การเอาใจเขา มาใส่ใจเรา " ให้มากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
การโกง ... คำนี้ฟังดูแรงๆ แต่มันเกิดขึ้นเสมอจากทุกๆ ฝ่าย ทัวร์โกงลูกค้า ทัวร์โกงที่พัก ทัวร์โกงรถตู้ หรือกลับกันเป็น ลูกค้าโกงทัวร์ ที่พักโกงทัวร์ รถตู้โกงทัวร์ ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ บางครั้งไม่ใช่มีแต่ผู้ขายโกงผู้ซื้อ ผู้ซื้อโกงผู้ขายก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ ... อาจใช้คำว่าโกง มันก็อาจดูแรงไป ใช้คำว่า การมีน้ำใจให้กัน อาจดูดีกว่า น้ำใจในสังคมมีมากมีน้อย เราประเมินค่าออกเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ให้รู้เพียงว่า การที่คุณคิดโกงใคร 1 ครั้ง " คุณกำลังเป็นคนหนึ่งที่เรียกได้ว่าทำให้สังคมเสื่อมลง " เพราะการโกงอาจเกิดเป็นลูกโซ่ คนที่ถูกโกงพอได้รับประสบการณ์แย่ๆ ไป ก็คิดว่า ทีคนอื่นยังโกงเรา แล้วเราจะโกงคนอื่นบ้างจะเป็นไรไป สังคมมันก็เป็นแบบนี้แหละ น้ำขึ้นให้รีบตัก ... ถ้าเมื่อไหร่ที่คนเราคิดกันแบบนี้ ก็บอกได้คำเดียวว่า " ขำไม่ออก " ครับงานนี้ ... ผมทำทัวร์มา ไม่เคยคิดโกงใครโดยเจตนา เพราะผมมั่นใจว่า แม่ไม่ได้สร้างยีนส์การโกงติดมาในสายเลือดผม การทำทัวร์ที่ผ่านมามีผิดพลาดบ้าง อาจด้วยการเข้าใจผิด อาจด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อย แต่มั่นใจว่า ไม่ได้เกิดจากการตั้งใจ ... ประสบการณ์ที่ผมได้รับมาเกี่ยวกับความรู้สึกของการไม่มีน้ำใจให้กัน เช่น การจองห้องพักล่วงหน้า และไม่สามารถขายทัวร์ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คุณว่าทางที่พักจะช่วยทัวร์แค่ไหน เมื่อเราวางเงินมัดจำไปแล้ว ถ้าเขาคิดจะไม่คืนเงินกลับมาบ้าง คุณก็ไม่มีทางได้เงินนั้นกลับคืนมาหรอก ถ้าเขามองว่าเป็นโอกาสของเขา เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะยึดเงินนั้นไป เขาก็มีสิทธิ์คิดได้ เขาอาจได้เงินนั้นไป แต่ให้เขารู้ไว้ด้วยว่า การทำแบบนั้นมันไม่ถูกต้องในเรื่องการมีน้ำใจในการทำธุรกิจร่วมกัน ถ้าคุณไม่คิดเอาใจเขามาใส่ใจเรา สังคมก็จะแย่ลงเป็นลูกโซ่ ... เห็นมั๊ยครับว่า การจัดทัวร์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย บริษัททัวร์เองก็มีความเสี่ยงไม่ใช่น้อยเช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่าต่อราคาทัวร์มากเลยนะครับ อิอิ ... ผมเคยจัดทัวร์จอยมาหลายๆ ตู้ ... ทัวร์จอย หมายถึง บนรถตู้ประกอบด้วยลูกค้าหลายๆ กลุ่มมารวมกัน ถ้าจอยได้เต็มตู้ ราคาก็จะถูกลงตามลำดับ ... บางครั้งก่อนเดินทางไม่กี่วัน ลูกค้ามายกเลิกทัวร์ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แล้วต้องการให้ทัวร์คืนเงินให้ คุณคิดว่าเราต้องทำเช่นไร ... มุมมองของลูกค้าต้องรู้สึกเสียดายเงินเป็นธรรมดา เพราะจ่ายเงินแล้วแต่ไม่ได้เที่ยว แต่มุมมองของทัวร์ เราจะเอาเงินจากไหนมาคืนให้ลูกค้าล่ะ ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายไปแล้ว จองรถไปแล้ว จองที่พักไปแล้ว ลูกค้าคนอื่นก็โอนเงินมาหมดแล้ว จะไปเก็บเพิ่มได้อย่างไร ... เรื่องนี้ทางลูกค้าต้องใจเย็นๆ และมองให้รอบด้านด้วยนะครับ บางครั้งเราช่วยท่านไม่ได้จริงๆ ลูกค้าอย่ามองแต่ในมุมของตัวเองนะครับ ... แต่สำหรับผม ถ้าเราหาลูกค้าคนอื่นมาเสียบแทนท่านได้ เราก็ยินดีคืนเงินให้ท่านทั้งหมด ... คุณคิดว่า ถ้าเราจะเก็บเงินนั้นไว้ ไม่คืนท่าน เราก็มีสิทธิ์ทำได้เช่นกัน เพียงแต่ถ้าเรามีน้ำใจให้กัน เราก็ไม่คิดจะทำเช่นนั้น เพียงแต่เราเอาใจเขามาใส่ใจเรา สังคมก็จะดีขึ้น ... คุณว่ามั๊ยล่ะ ??
2. ธรรมชาติ กับ ความเป็นจริง
สถานที่ท่องเที่ยว แต่ละที่ แต่ละภาค มีช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขา เช่น เที่ยวทะเล ก็จะมีหน้ามรสุมของแต่ละเกาะ แต่ลูกค้าบางคนไม่ทราบ เพราะอาจไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ ... เรื่องนี้มองได้ 2 มุม ถ้ามองในแง่ผู้ประกอบการ ก็ต้องการมีลูกค้าหล่อเลี้ยงบ้าง ในช่วงที่อากาศไม่เป็นใจก็ตามที แต่ในมุมของลูกค้า ถ้าเขาเดินทางโดยไม่รู้ความจริง และไม่ได้เตรียมใจไปรับสภาพแบบนั้น ก็คงเสียดายเงินที่หามาได้เหมือนกัน บางครั้ง " ความจริง " ก็อาจทำให้อีกคนรอด แต่อีกคนเสียโอกาส มันก็ทำให้ชี้แจงลำบากในกรณีนี้ สำหรับผมแล้ว ขอเลือกบอกความจริงดีกว่า เพราะการออกไปเที่ยว 1 ครั้ง บางคนอาจต้องเก็บเงินมานานเพื่อเวลานี้ก็เป็นได้ เราควรบอกความจริงว่า ช่วงเวลานี้โอกาสที่จะเจออากาศไม่เป็นใจมีสูงนะ ถึงแม้ว่าอาจทำให้เราไม่ได้งานนั้นมา แต่ถ้างานนั้นได้มาเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว มันก็ไม่ถูกต้องนัก เราอาจบอกว่าในช่วงเวลานี้ถึงมีความเสี่ยง แต่ถ้าโชคดี เกิดวันนั้นฟ้าเปิดพอดี เราก็จะได้พบกับช่วงเวลาที่ดีที่สุดก็เป็นได้ เพราะเป็นช่วงที่คนจะน้อยมาก และเราอาจได้สัมผัสกับธรรมชาติอันสวยงาม เงียบสงบ ซึ่งการไปช่วงที่เป็นไฮซีซั่น เราจะไม่มีวันได้พบโอกาสแบบนี้ได้ ... ผมเคยได้ฟังสปอร์ตโฆษณาในวิทยุ เชิญชวนไปเกาะช้างในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นหน้ามรสุม ณ เวลานั้น เขาบอกว่าจะได้สัมผัสท้องฟ้าแจ่มใส ทะเลสีฟ้าคราม ซึ่งผมมองว่า บางครั้งคนเราต้องปกปิดความจริงบางอย่าง เพื่อบางอย่างเหรอ ... " การเอาตัวเองรอด " เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า อันนี้ก็น่าคิดมากๆๆๆ ... แต่ยังไงๆๆ ผมก็มองว่าลูกค้าควรได้รับความจริง ก่อนที่จะตัดสินใจอะไรลงไปสำหรับเงินที่เขาหามาได้มากกว่า ถ้ามันผิดพลาดขึ้นมา เขาจะได้เข้าใจว่าเขาเป็นคนเลือกเองที่จะมายืนตรงนี้ ณ เวลานั้น
แต่บางครั้งในช่วงไฮซีซั่นที่อากาศเหมาะสำหรับเที่ยวที่นั้นๆ เราก็อาจเจอช่วงที่อากาศแปรปรวนก็เป็นได้ ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดภาวะแบบนี้ขึ้นไม่ได้ ทางที่ดีลูกค้าที่ได้ตัดสินใจซื้อไปแล้ว ควร " ทำใจ " เผื่อไว้บ้าง ... ถ้าเกิดเจอภาวะแบบนั้นก็นึกเสียว่า ทะเลวันที่ฝนฟ้าคำราม ก็สวยดีเนอะ ตื่นเต้นดี สวยแปลกตาไปอีกแบบ ถ้าท่านสามารถคิดได้แบบนี้ ชีวิตท่านก็มีแต่ความสุขกับการเดินทางได้เสมอ ....
3. บริษัททัวร์รับเงินมัดจำ แล้วปิดกิจการ ปิดเว็บหนี ได้ทั้งเงิน และน้ำตาของลูกค้าไป
ได้รับฟังข่าวแบบนี้ ทัวร์เล็กๆ แบบผมก็โดนกระแสคลื่นซัดไปด้วย เรียกได้ว่าปลาตายหนึ่งตัว พาตัวอื่นเน่าไปด้วย เรื่องนี้ทางลูกค้าต้องเช็คดี ดี ครับ ว่าถ้าโอนเงินไปแล้วจะเชื่อใจเขาได้มั๊ย เขามีตัวตนหรือเปล่า ถ้าเขาหนีจะตามตัวเขาได้อย่างไร เขาจดทะเบียนกับ ททท. หรือไม่ ... มีบริษัททัวร์ส่วนน้อยครับ ที่เปิดมาเพื่อตั้งใจโกง หรือต้องโกงในภาวะบางอย่าง ซึ่งอาจเกิดจากมีปัญหาส่วนตัว ... ทัวร์เล็กๆ ที่ตั้งใจทำงานก็มีมากมายครับ อย่าเพิ่งตกใจกับข่าวมากจนเกินไป ถ้าเกิดวันหนึ่งเราต้องเจอเหตุการณ์แบบนั้น ก็ถือซะว่าทำบุญไปครับ เราอาจเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยชีวิตคนหนึ่งคนก็ได้ ( คิดในแง่บวก ) ... แต่ก็คงน้อยคนเนอะจะคิดได้แบบนี้ มันก็ต้องมีอารมณ์กันแน่ๆ ถ้าเราเตรียมการที่จะไปเที่ยว แต่ไม่ได้ไปตามที่วางแผนไว้ ... สรุปประเด็นนี้ก็คือ เช็คดี ดี ครับ ว่าบริษัททัวร์นี้เชื่อมั่นได้แค่ไหน และเราพร้อมจะเชื่อเขาหรือเปล่า การเชื่อมั่นของเรา อาจเป็นการช่วยให้บริษัทเล็กๆ ของคนๆ หนึ่ง มีกำลังใจในการยืนอยู่ในสังคม ลูกค้าอาจได้ทั้งการได้เที่ยวที่ประทับใจ และได้สนับสนุนคนที่ตั้งใจตั้งตัวก็ได้ครับ ... แต่ถ้าตั้งใจสนับสนุนทัวร์เล็กๆ แล้วโดนโกงล่ะก็ ... ????
4. ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้าเสมอไป ลูกค้าก็คือคนธรรมดาเดินดินแบบเราทุกๆ คนนี่แหละ
ผมเคยได้รับประสบการณ์ตรงจากลูกค้าคนหนึ่ง ในหลักการทำงานด้านบริการ เขาบอกว่าลูกค้าคือพระเจ้า เราต้องเอาใจเขาตลอดเวลา ... ซึ่งในมุมมองของผมแล้ว มันไม่เสมอไปหรอกครับ ลูกค้าใช่ว่าจะนิสัยดี น่ารักซะทุกคน ลูกค้าแปลกๆ ก็มีเยอะ แต่ใช่ว่าเราจะแกล้งเขาถ้าเขามาไม่ดี ผู้ให้บริการก็มีความอดทนต่อหน้าที่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ทุกคนก็มีขีดความอดทนที่ต่างกัน ... การเดินทางท่องเที่ยวร่วมกับคนอื่นหลายๆ คน เราต้องวางตัวให้เสมอๆ กัน ไม่ว่าคุณจะร่ำรวยล้นฟ้ามาจากไหนก็ตาม ใช่ว่าคุณจะสั่งให้เขาทำอะไรก็ได้ ต่อว่ายังไงก็ได้ เรื่องมากยังไงก็ได้ ผมเชื่อว่าทุกคนมี " ศักดิ์ศรี " ในตัวเองกันทุกคน ... การที่เรารู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราจากประเด็นในข้อแรก สำคัญมากๆ ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ถ้าเราปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ดี การเดินทางทริปนั้นๆ ก็จะจบลงอย่างประทับใจเป็นที่สุด
ลูกค้า ต้องปรับตัวเข้ากับลูกค้ากันเอง ต้องมีแน่นอนในการร่วมทริปจอยกับคนอื่น หลักการในเรื่องนี้มีข้อเดียว คือ " ตัวเราเองอย่าทำตัวให้เป็นที่เดือดร้อนกับคนอื่น " .... จบ
5. การเที่ยวในช่วงหยุดยาวต่อเนื่อง จะได้รับบริการเหมือนช่วงปกติหรือไม่?
ขอบอกตรงๆ ว่ายากครับ การทำทัวร์ในช่วงคนเยอะๆ ปัญหามากมายครับ ... โปรแกรมเปลี่ยนแปลง อาหารการกินช้า ที่พักผิดกับที่จองไว้ รถตู้หลงทาง ประเด็นพวกนี้ได้ยินมาบ่อยมากครับ ผมว่าลูกค้าต้องเผื่อใจให้มากๆๆๆ ในช่วงการเดินทางเวลานี้ ปัญหาก็เกิดจากความเป็นจริงที่เราทราบๆ กันอยู่แล้วในกรณีคนแน่นๆ เกินความพอดี ปัญหาอาจเกิดจากบริษัททัวร์รับงานมากเกินไป จนคุณภาพงานตกลง เพราะเป็นช่วงโกยของการทำงาน จะเห็นได้ว่าหลายๆ ที่โดนลูกค้าด่าทางเว็บบอร์ดจนเป็นเรื่องปกติไปเลยก็ว่าได้ ... ประเด็นนี้ลูกค้าควรทำอย่างไร เพราะส่วนมากลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะมีเวลาเที่ยวในช่วงหยุดยาวนี้ ที่แนะนำได้ ก็คงต้อง " เผื่อใจไว้บ้าง " ครับ ใจเย็นๆ เที่ยวแบบใจเย็นท่ามกลางผู้คนมากหน้าหลายตา สนุกสนานดีออก เพราะการที่เราหงุดหงิดไป ก็ยิ่งทำให้การเที่ยวกร่อยมากขึ้นไปอีก การโมโหเวลาไปเที่ยว ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นครับ
สำหรับผมไม่ค่อยได้จัดทัวร์ช่วงหยุดยาวมากนัก เพราะถ้าไม่พร้อม ผมจะไม่ค่อยเอาลูกค้าไปเสี่ยง การทำทัวร์ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เวลาที่เขาไปเที่ยว คือการไปพักผ่อน ไม่ใช่ไปเก็บประสบการณ์ที่ไม่ดี
6. การเที่ยวแบบหารเฉลี่ย กึ่งหารเฉลี่ย ทัวร์ ต่างกันยังไง ?
หลายๆ คน อาจไม่รู้จักการเที่ยวแบบหารเฉลี่ย กับกึ่งหารเฉลี่ย ผมขออธิบายง่ายๆ นะครับ
หารเฉลี่ย คือ การเที่ยวแบบ ทุกๆ คนจ่ายค่าใช้จ่ายเท่าๆ กัน หารกันประมาณนั้น จะเกิดขึ้นในกรณีที่มีคนจัดทริปที่ต้องการเที่ยวในเส้นทางหนึ่งๆ แล้วต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ค่ารถ ค่าเรือ ฯลฯ การไปหลายคนจะประหยัดค่าใช้จ่าย การเที่ยวแบบนี้คนจัดจะไม่มีความกดดันมาก เพราะทุกคนที่มาเที่ยวต้องดูแลตัวเอง มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ... มีไม่กี่เว็บ ที่เปิดให้คนเข้ามาเที่ยวแบบนี้ หลายๆ อย่างเหมือนจะง่ายสำหรับการเที่ยวแบบนี้ แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เมื่อหลายคนมาจากหลายทิศหลายทาง แล้วต้องมาปรับตัวหากัน บางคนง่ายๆ ก็ไม่มีปัญหา จะมีปัญหากับพวกเรื่องมาก มากเรื่อง เหมือนเดิม จนคนจัดหลายๆ คนเบื่อ และสแกนคนร่วมทริปมากขึ้น
กึ่งหารเฉลี่ย หลักการทุกอย่างเหมือนหารเฉลี่ยทุกอย่าง ยกเว้นเรื่องเดียว คือ คนจัดไม่ร่วมหารค่าใช้จ่ายด้วย อาจด้วยเคยไปแล้ว อยากไปซ้ำ ต้องการไปสำรวจเส้นทางอีกรอบ ประมาณนี้ ... การเที่ยวแบบนี้ราคาจะถูกกว่าทัวร์พอสมควร เพราะคนจัดไม่ได้กำไร ตัด cost ในส่วนของกำไร และค่าไกด์ออกไป อาหารการกิน ที่พัก ก็แล้วแต่ว่าทริปนั้นต้องการนอนสบายแค่ไหน ... แต่ทริปกึ่งหารเฉลี่ยจะออกมาดีแค่ไหน ขึ้นกับคนจัดคนนั้นด้วย ว่าพร้อมและมีประสบการณ์แค่ไหน ถ้าเขาพร้อม ทริปนั้นก็มีความต่างจากการจัดทัวร์น้อยมาก ... ผมเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับการจัดทริปกึ่งหารเฉลี่ยครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นลูกค้าไม่เข้าใจ คิดว่าทริปนั้นเป็นทัวร์ ต้องมีไกด์ดูแลเขาด้วย ปัญหาครั้งนั้นเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ดีของผมเองด้วย ทำให้ต่อไปถ้าผมจะจัดทริปกึ่งหารเฉลี่ยอีกครั้ง คงสแกนผู้ร่วมทริปให้มากขึ้นกว่าเดิม
ทัวร์ การจัดทัวร์ คือการนำเที่ยว ที่มีกำไรเป็นผลตอบแทน ทุกอย่างต้องพร้อม ถึงพร้อมที่สุด ที่จะสามารถนำลูกค้าไปเที่ยวได้ตามเป้าหมายที่เขาต้องการ
7. การพิจารณาเลือกใช้บริษัททัวร์ ควรคำนึงเรื่องใดบ้าง ?
บริษัททัวร์ในเมืองไทย มีเป็นพันๆ แห่ง แล้วแต่ว่าเราจะค้นเจอจากสื่อไหน สื่อที่น่าเชื่อถือที่สุดน่าจะเป็น จากเพื่อนแนะนำ เพราะมีการใช้งานแล้ว เคยผ่านประสบการณ์มาแล้ว ... ถ้าเรามีเงินเยอะ และต้องการความมั่นใจในคุณภาพสูงๆ แน่นอนทัวร์ที่มีชื่อเสียง จะตอบสนองท่านได้ เพราะบริษัทใหญ่ๆ จะมีประสบการณ์สูง ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ แต่ถ้าราคาเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้อ ลูกค้าก็จะหันมามองทัวร์เล็กๆ ราคาต่ำลงมาบ้าง สิ่งที่แน่นอนอย่างหนึ่ง และยุติธรรมต่อโลก คือ ถ้าเส้นทางท่องเที่ยวเดียวกัน ธรรมชาติก็ต้องเหมือนกัน ไม่มีแน่นอนที่ไปกับทัวร์ราคาสูง แล้วจะได้ชมทะเลหมอกที่สวยกว่า ได้ชมปะการังที่สวยกว่า ... ทัวร์เล็กๆ จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง สำหรับลูกค้าที่มีงบประมาณจำกัด แล้วความมั่นใจล่ะ ทัวร์เล็กๆ จะตอบคำถามได้หรือไม่ จะจัดได้เท่าทัวร์ใหญ่หรือเปล่า อันนี้ก็แล้วแต่ดวงครับ สิ่งใหม่ๆ ย่อมมีความเสี่ยงเสมอ ขึ้นอยู่กับท่านแล้วล่ะครับ ว่ากล้ารับความเสี่ยงนั้นหรือไม่
จุดหลักๆ ที่จะพิจารณา เราต้องสอบถามทางบริษัทที่เราจะเลือกดูว่า จากราคาที่เสนอมารวมอะไรบ้าง ดังนี้
7.1 ใช้รถอะไร รถตู้แบบไหน? แต่ส่วนมากปัจจุบัน ก็เป็นรถตู้ D4D กันหมดแล้ว
7.2 พักที่ไหน?
7.3 ทำประกันชีวิตอย่างไร?
7.4 อาหารแต่ละมื้อเป็นอย่างไร?
หลักๆ ก็มีประมาณนี้ ส่วนเรื่องโปรแกรมทัวร์ ส่วนมากจะไม่ต่างกันมาก เพราะโปรแกรมทัวร์เราลอกๆ กันได้ ไม่ว่าไปกับใครก็เส้นทางเดียวกัน
ถ้าทุกอย่างใกล้เคียงกัน ทำไมราคาต่างกัน? คำตอบก็คือ เป็นหลักการตลาดทั่วไป ถ้าใครเล็ก แล้วขายแพงจะขายออกได้อย่างไร พอทำทัวร์ไปสักพัก เริ่มมั่นใจ ราคาก็จะเริ่มขยับไปเท่าๆ กัน เพราะกำไรน้อย ความเสี่ยงสูง และความคาดหวังของลูกค้าบางครั้งก็ไม่ต่างกัน ( ซื้อถูก ซื้อแพง ลูกค้าก็ต้องการของดีเหมือนกัน ) ... เพื่อนๆ บางคนเลยคิดกันว่า ขายถูกก็โดนด่า งั้นขายแพงๆ เลยดีกว่า เวลาโดนด่าก็ยังคุ้มค่าหน่อย อิอิ